หัวข้อข่าว
        8 เมษายนของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนา องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.)
รายละเอียด
       
🌸32 ปีแห่งการสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์🌸 🌸วันที่ 8 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) องค์กรของประเทศที่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการด้านสวนพฤกษศาสตร์ เป็นสถาบันทางวิชาการด้านพืชที่รวบรวมพันธุ์พืชอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัย อนุรักษ์ จัดแสดง เผยแพร่ความรู้ด้านพืชและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชน รวมทั้งปลูกฝังกล่อมเกลาจิตใจให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และถือได้ว่าสวนพฤกษศาสตร์ เป็นดัชนีชี้วัดความเจริญของประเทศ 🌸ตลอดระยะเวลา 32 ปี อ.ส.พ. ได้อนุรักษ์พันธุ์พืชนอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (ex situ conservation) เพื่อนำมาจัดปลูกตามหลักวิชาการในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์สาขาในสังกัดของ อ.ส.พ. ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์ระยอง สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น สวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า จ.สุโขทัย รวมทั้งสิ้น 261 วงศ์ 1,528 สกุล 5,456 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพืชหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของประเทศ 590 ชนิด ในวงศ์กล้วยไม้ 652 ชนิด วงศ์ขิงข่า 320 ชนิด และพืชสมุนไพร 604 ชนิด พร้อมทั้งการอนุรักษ์พันธุ์พืชในสภาพปลอดเชื้อ (in vitro conservation) รวมทั้งสิ้น 504 ชนิด แบ่งเป็นพืชหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของประเทศ 45 ชนิด ในวงศ์กล้วยไม้ 359 ชนิด และวงศ์ขิงข่า 100 ชนิด โดยมีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูประชากรพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดำเนินการแบบบูรณาการทั้งการอนุรักษ์พืชนอกและในถิ่นที่อยู่อาศัย ร่วมกับเครือข่ายของชุมชมในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์สาขาในสังกัด ปัจจุบัน อ.ส.พ. นำพืชเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กลับคืนถิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งสิ้น 67 ชนิด 🌸อ.ส.พ. ยังได้ศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะด้านพืชและแมลงในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและประเมินสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของพันธุ์พืชในประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ จากการศึกษาด้านอนุกรมวิธานพืช นักอนุกรมวิธานจาก อ.ส.พ. ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 86 ชนิด และตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ อาทิ โสกเหลืองแม่เมย กระเจียวอรุณ ช่อม่วงพิทักษ์ กระเจียวลำปาง กระเจียวสรรพศรี กระเจียวสุพรรณ กะพ้อเขาจันทร์ ประทัดสุเทพ ก้ามกุ้งภูวัว เอื้องศรีเชียงดาว กระเจียวงาม ก้านดำใบงาม ก้านดำทองแถม เปราะภูแม่ฮ่องสอน และชมพูสิริน และค้นพบแมลงชนิดใหม่ของโลก 68 ชนิด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพพืชพื้นเมืองของไทย อาทิ พืชสกุลมหาหงส์ มะเดื่อหว้า ซ้อ อูนป่า ตะไคร้ต้น คำมอกหลวง และดาหลา นำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยมีการจดอนุสิทธิบัตร 9 อนุสิทธิบัตร และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่ายในร้านขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของ อ.ส.พ. (BotaniGar shop) 30 ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชและจดทะเบียนกล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ 7 สายพันธุ์ ใน The Royal Horticultural Society 🌸นอกจากนี้ อ.ส.พ. ยังเป็นแหล่งอ้างอิงและให้บริการทางวิชาการที่สำคัญของประเทศ โดยมีห้องสมุด และหอพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (QBG herbarium) เก็บรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางพฤกษศาสตร์และเก็บรักษาตัวอย่างพืช เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลศึกษาวิจัยทางพฤกษศาสตร์และตัวอย่างอ้างอิงในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุ์พืชทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่า 141,775 ตัวอย่าง 337 วงศ์ 2,984 สกุล 15,186 ชนิด ครอบคลุมชนิดของพืชในประเทศมากกว่าร้อยละ 90 รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพ (MOU) ในประเทศ 44 ฉบับ และต่างประเทศ 15 ฉบับ และพิพิธภัณฑ์แมลง ซึ่งรวบรวมตัวอย่างแมลง เพื่อการศึกษาวิจัยและการอ้างอิง 172,875 ตัวอย่าง 2,053 ชนิด #องค์การสวนพฤกษศาสตร์ #กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม